ภูกระดึง ขุนเขามหัศจรรย์แห่งเมืองเลย




             ว่ากันว่า....หากอยากพิสูจน์รักแท้ ให้พาคนที่เรารักไปร่วมพิสูจน์รักด้วยการเดินทางพิชิตยอดภูของ อุทยานแห่ง ชาติภูกระดึง และถ้าหากเขาคนนั้น สามารถร่วมเดินทางไปกับคุณจนกระทั่งถึงยอดดอย และคอยช่วยเหลือดูแลกันและ กันเป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ เขาก็คือรักแท้ของเราเป็นแน่แท้!!!


       ภูกระดึง เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร มีความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตรจากระดับน้ำทะเล


 
    สภาพทั่วไปของภูกระดึง ประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความสูง บรรยากาศ และสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปี บนยอด ภูกระดึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิอาจลดต่ำจนถึง 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยว ปรารถนาและหวังจะเป็นผู้พิชิตยอด ภูกระดึง สักครั้งหนึ่งในชีวิต



     สำหรับการเดินทางขึ้น ภูกระดึง นั้น ทางอุทยานฯ จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 07.00 - 14.00 น. ของทุกวัน และหลังจากเวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ทางอุทยานฯ จะไม่อนุญาต เพราะระยะทางในการเดินทางขึ้นเขาต้องใช้เวลาในการเดินเท้า ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งจะตรงกับเวลาพลบค่ำในระหว่างทาง ดังนั้น อาจจะทำให้เกิดความยากลำบาก อีกทั้งอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าที่ออกหากินในเวลากลางคืนอีกด้วย



        อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย จะเปิดการท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภู ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี และจะทำการปิดการท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภูกระดึง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง วันที่ 30 กันยายนของทุกปีเช่นกัน เพื่อเป็นการฟื้นฟูในช่วงฤดูฝน



 จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึง

           ผานกแอ่น... เป็น ลานหินเล็กๆ มีสนต้นหนึ่ง ขึ้นโดดเด่นอยู่ริมหน้าผา เป็นจุดท่องเที่ยวชมพระอาทิตย์ขึ้น ที่สำคัญอยู่จากที่พักศูนย์วังกวางเพียง 2 กิโลเมตร ในทุกเช้าของหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปกันมากและ มักจะมีการชิงทำเลดีๆ เสมอ สมัยนี้ทางไปมักมีช้างอาละวาด ตอนเช้าจะต้องไปพร้อมเจ้าหน้าที่เสมอ ห้ามไปเอง เป็นอันขาด นอกจากนั้น หากอากาศดีพอ ในช่วงเวลาที่เดินเท้าฝ่าความมืดมาชมพระอาทิตย์ขึ้นนั้น เป็นช่วงที่ประจวบเหมาะกับ เวลาที่พระจันทร์กำลังจะลับขอบฟ้า ด้านตะวันตกนั้นจะได้เห็นภาพสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ ซึ่งจะบานสะพรั่งเต็มต้นในเดือน มีนาคม-เมษายน และใครที่อยากไปชมประอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น ควรเตรียมไฟฉายสำหรับใช้ส่องทางไปด้วย

          ผาหล่มสัก...ถ้าไม่มาชมพระอาทิตย์ตกที่นี่ ก็เหมือนไม่ได้มาเยือนภูกระดึง…หลายคนถึงกับออกปากไว้แบบนั้น ตัวผาหล่มสักอยู่ห่างจากผาแดง 2.5 กิโลเมตร หากเดินมาจากแยกศูนย์โทรคมนาคมกองทัพอากาศ บนเส้นทางน้ำตก แต่ถ้าเดินจากที่พักศูนย์วังกวาง จะมีระยะประมาณ 9 กิโลเมตร หากจะมาต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะขากลับจะมืดกลางทางอย่างแน่นอน ด้วยลักษณะแผ่นหินแปลกตากับโค้งกิ่งสนที่รองรับกันพอดิบพอดีเช่นนี้ นักท่องเที่ยวจึงนิยมจะใช้เป็นจุดชมวิว ดูดวงอาทิตย์ตกดิน และน่าจะถือได้ว่าเป็นภาพที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง แนะนำสักนิดสำหรับผู้ที่จะไปชมประอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก ควรเตรียมเสื้อกันหนาวและไฟฉายสำหรับใช้ส่องทางเวลาเดินกลับที่พัก ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง 

        ผาหมากดูก...อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2.5 กิโลเมตร เป็นผาที่มีลานหินกว้างขวาง เป็นผาสำหรับชมพระอาทิตย์ตกที่ใกล้ที่พักมากที่สุด สามารถชมทิวทัศน์ภูผาจิตในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีดอกกระเจียวขึ้นเต็มทุ่งตามเส้นทางสู่ผาหมากดูก

          น้ำตกวังกวาง...ชื่อก็บอกอยู่แล้ว น้ำตกวังกวางอยู่ใกล้ที่พักศูนย์วังกวางมากที่สุด โดยมีระยะทางห่างแค่ราว 1 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ห้วยเล็กๆ ที่โอบล้อมที่พักอีกด้านจะไหลลงน้ำตกที่นี่ วังกวางเป็นน้ำตกเล็กๆ ชั้นที่สูงสุด จะสูงประมาณ 7 เมตร ด้านข้างของน้ำตกมีทางแคบๆ สำหรับปีนลงไปทีละคน จะพบหลืบหินมีลักษณะคล้ายถ้ำใต้น้ำตก น้ำตกวังกวางจะมีความสวยงามมากในช่วง ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม บริเวณนี้จะมีทากชุม เพราะเป็นด่านช้าง หรือทางช้างเดิน ส่วนในฤดูท่องเที่ยวซึ่งเป็นฤดูแล้ง ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมได้ง่ายใกล้ที่พัก

          น้ำตกถ้ำสอเหนือ...อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 4.8 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 10 เมตร น้ำไหลมาจากผาเป็นม่านน้ำตก บริเวณเหนือน้ำตกมีดงกุหลาบแดง ซึ่งในช่วงฤดูร้อนจะผลิดอกสร้างสีสรรค์ให้ กับบริเวณนี้สวยงามยิ่งขึ้น

          น้ำตกเพ็ญพบใหม่...เกิดจากลำธารวังกวาง น้ำตกผ่านผาหินรูปโค้ง ในหน้าหนาว ใบเมเปิ้ลที่อยู่บริเวณริมน้ำตก จะร่วงหล่นลอยไปตามผิวน้ำยามแดดสาดส่องผ่าน ลงมาจะเป็นสีแดงจัดตัดกับสีเขียวขจีของตะไคร่น้ำตามโขดหิน ลำธารวังกวางเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกโผนพบ ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยนโลกคนแรกของชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยให้ชินกับอากาศหนาว ก่อนเดินทางไปชกในต่างประเทศ

         สระอโนดาด... อยู่ ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2.7 กิโลเมตร เป็นสระน้ำขนาดไม่ใหญ่นักที่มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ใกล้กันยังมีลานกินรี ซึ่งเป็นสวนหินธรรมชาติที่อุดมไปด้วยพรรณไม้ ทั้งพวกกินแมลงอย่างดุสิตา หยาดน้ำค้าง หรือเฟิร์น เช่น กระปรอกสิงห์ บนหินยังมีไลเคนขึ้นอยู่เต็มไปหมดด้วย 







                การเดินทาง


     รถโดยสารประจำทาง

         โดยสารรถยนต์จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) กรุงเทพมหานคร ไปลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตต่อแดนระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง แล้วโดยสารรถประจำทาง(รถสองแถว) ไปลงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จากนั้นก็เดินต่อขึ้นไปยอดภูกระดึงควรใช้รถประจำ หรือหากนักท่องเที่ยวใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ลงที่ชุมแพ และต่อรถสายขอนแก่น-เลย ไปลงที่ตลาดอำเภอภูกระดึง ซึ่งจะมีรถสองแถวต่อถึงไปอุทยานฯ

         ปล. รถสองแถวแดงที่รับจ้างนำนักท่องเที่ยวส่งระหว่างจุดจอดรถที่ผานกเค้ามาที่ ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง คำแนะนำคือ ถ้าเรามาไม่กี่คนให้รวมทีมกับกรุ๊ปอื่นจะได้เฉลี่ยค่าสองแถวไม่ต้องเหมารถ ให้เปลืองสตางค์
  
      รถไฟ
         จากกรุงเทพมหานครโดยสารรถไฟไปลงที่ขอนแก่น จากนั้นโดยสารรถประจำทางสายขอนแก่น-เลย ไปยังหน้าตลาดที่ว่าการอำเภอภูกระดึง แล้วต่อรถสองแถว หรือเดินทางต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นปีนเขาขึ้นยอดภู จากนั้นต้องเดินเท้าขึ้นยอดภู อีก 5 กิโลเมตร จึงจะถึง “หลังแป” แล้วเดินเท้าไปตามทุ่งหญ้าอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่พักบนยอดภูกระดึงทางอุทยานฯ ได้จัดลูกหาบสัมภาระของนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดภูกระดึง คิดค่าบริการเป็นกิโลกรัม

           รถส่วนตัว

 
เดินทางโดยรถยนต์ สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง  

         1. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย ภูเรือ และอำเภอเมืองเลย เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (เลย-ขอนแก่น) และเลี้ยวเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2019 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 

         2. ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา จนถึงจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูผาม่านและตำบลผานกเค้า เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 

         3. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ผ่านจังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จากนั้นเดินทางเช่นเดียวกับเส้นทางที่ 2
 

   
  ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว   

         มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ทั้งบนยอดภูกระดึง และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ด้านล่าง ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.

 หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

         บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เด็ก 10 บาท และบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ 10 บาท นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเต็นท์และบ้านพักได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ โทร.0-4287-1333 หรือติดต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0-2562-0760

         ท้ายสุดฝากไว้ สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากไปท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติบน ภูกระดึง ควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน จึงจะเที่ยวชมธรรมชาติได้ทั่วถึง ซึ่ง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะเปิดให้เที่ยวบนยอด ภูกระดึง ได้เฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคมเท่านั้น ช่วงระหว่างมิถุนายนถึงกันยายนของทุกปี ทางอุทยานฯ จะปิดเพื่อปรับสภาพธรรมชาติ ให้ฟื้นตัวและปรับปรุงสถานที่พักสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ฉะนั้น เช็คก่อนออกเดินทางกันด้วยล่ะ

         เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว บรรดาแบคแพ็คเกอร์ทั้งหลาย ก็เตรียมแพ็คกระเป๋า แล้วออกเดินทางกันได้เลย...


 



                                                           อ้างอิงจาก
                                                        www.kapook.com
                                                          www.youtube.com 

                                                                   กลับสู่หน้าหลัก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น